Mon - Sun: 10.00AM to 08.00PM
ติดต่อสอบถาม: 02-012-0192

ไข 12 ข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องรากฟันเทียม ฉบับเข้าใจง่าย

admin01

รากฟันเทียม

หลายคนที่มีปัญหาในการสูญเสียฟันแท้ไป ไม่ว่าจะเป็นด้วยเรื่องของอายุ หรืออุบัติเหตุที่ทำให้ฟันแท้ต้องหลุดไป คงเคยได้ยินถึงวิธีหนึ่งที่ทันตแพทย์ต่างแนะนำ นั่นก็คือการทำรากฟันเทียม แม้วิธีนี้จะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดี แต่หลายคนก็อาจจะยังคงลังเล สงสัย และมีความไม่แน่ใจอยู่หลายเรื่อง ครั้งนี้เราจึงมาไขปัญหายอดฮิต 12 ข้อเกี่ยวกับเรื่องการทำรากเทียมให้คุณได้ทราบ มาดูกันเลย

1.การทำรากเทียมกับการรักษารากฟันเหมือนกันหรือไม่

มีหลายคนทีเดียวที่เข้าใจว่าการทำรากเทียมกับการรักษารากฟันนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้ว 2 สิ่งนี้ไม่เหมือนกัน

·       การรักษารากฟัน จะเป็นการรักษาในกรณีที่คนไข้ยังมีรากฟันและยังมีฟันอยู่ปกติ แต่เกิดอาการติดเชื้อที่เหงือกและฟัน หรือเกิดการบาดเจ็บที่ฟันโดยตรง

·       การทำรากฟันเทียม จะเป็นการรักษาในกรณีที่ฟันแท้ของคนไข้หลุดออกไปแล้ว ไม่ว่าจะหลุดเองก็ถูกถอนออกไปก็ตาม คือ ไม่มีฟันและต้องใส่ฟันปลอมเข้าไปทดแทน ก็จะทำการฝังรากเทียมเข้าไปเพื่อให้เชื่อมประสานกับฟันปลอมอีกทีหนึ่งนั่นเอง

2.รากฟันเทียมทำมาจากอะไร

รากเทียมนั้นจะเป็นวัสดุทดแทนที่มีลักษณะคล้ายกับรากฟัน จะเรียกว่าเป็นอวัยวะเทียมอย่างหนึ่งก็ได้ สามารถฝังเข้าไปที่ร่างกายมนุษย์ได้โดยไม่มีอันตราย ซึ่งวัสดุที่นำมาทำรากเทียมนั้นหลัก ๆ จะมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกันคือ

·       ไทเทเนียม

·       เซรามิค

ทั้งนี้ การจะเลือกวัสดุแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับแหล่งที่ผลิตว่ามาจากประเทศไหน และแบรนด์ไหนด้วย

3.รากเทียมเกาหลีกับรากเทียมยุโรป แตกต่างกันอย่างไร

ความแตกต่างของรากฟันเทียมเกาหลีกับรากฟันเทียมยุโรป หลัก ๆ จะแตกต่างกันในเรื่องของวัสดุที่ใช้ทำรากเทียม และความพิถีพิถันในการผลิต แต่วัสดุก็จะอยู่ใน 3 ชนิดที่กล่าวมา ซึ่งนั่นก็ส่งผลทำให้ราคาแตกต่างกันไปด้วยนั่นเอง (อ่าน…รากฟันเทียมแบบยุโรป vs เกาหลี เลือกแบบไหนที่จะใช่สำหรับเรา)

4.การทำรากเทียมเจ็บหรือไม่?

สำหรับประเด็นนี้แต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ในภาพรวมแล้วการทำรากฟันเทียมจะเจ็บน้อยมาก ผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านการทำมาแล้วมักจะบอกว่าความเจ็บปวดอาจจะใกล้เคียงหรืออาจจะน้อยกว่าการถอนฟันด้วยซ้ำไป แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทำการฝังรากเทียมไปกี่จุด ถ้าทำหลายซี่ก็อาจจะมีการปวดระบมมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้รู้สึกเจ็บมากนั่นเอง

5.รากเทียมทำแล้วอยู่ได้นานไหม

รากเทียมนั้นมีความคงทนสูง อายุการใช้งานจึงนาน โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ได้นานประมาณ 10 ปี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาความสะอาดช่องปากของแต่ละคนด้วย

6.รากเทียมทำได้ตั้งแต่อายุเท่าไร ผู้สูงอายุทำได้หรือไม่

การทำการฝังรากเทียมนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่จะสูญเสียฟันแท้ไปก็มักจะเป็นผู้สูงอายุอยู่แล้ว ผู้สูงอายุจึงสามารถทำได้ไม่มีปัญหา แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์อีกทีว่าคนไข้มีความพร้อมหรือไม่ด้วย

7.การถ่ายภาพรังสี 3 มิติ (X-ray 3D) ก่อนการทำรากเทียมเป็นอันตรายหรือไม่

การถ่ายภาพรังสี 3 มิตินั้น นับเป็นหนึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่องานทันตกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งมีการใช้รังสีน้อยมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับการ X-ray ทางการแพทย์ทั่วไป การ X-ray 3D สำหรับงานทันตกรรมจะใช้รังสีน้อยกว่า 30 – 40 เท่าเลยทีเดียว จึงปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย (อ่าน…การทำ CT scan (x-ray3D) สำคัญอย่างไรต่อกระบวนฝังรากฟันเทียม)

8.กระบวนทำรากเทียมใช้เวลานานไหม

ระยะเวลาในการทำการฝังรากเทียมนั้นแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนตำแหน่งฟันที่ต้องทำ และต้องดูด้วยว่าต้องมีการผ่าตัดปลูกกระดูกเพิ่มหรือไม่ หากต้องทำหลายซี่หรือมีการปลูกกระดูกด้วยก็อาจจะนานขึ้น แต่โดยปกติแล้วเวลาต่อ 1 ซี่จะอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีเท่านั้น

9.การปลูกกระดูก คืออะไร จำเป็นต้องทำทุกคนไหม

สำหรับการปลูกกระดูกทดแทนนั้นเป็นกระบวนการหนึ่งที่แพทย์จะทำก่อนการฝังรากฟันเทียม แต่ไม่ใช่คนไข้ทุกรายจะต้องผ่านกระบวนการนี้ แพทย์จะทำการปลูกกระดูกทดแทนเฉพาะกรณีที่คนไข้คนนั้นมีปริมาณกระดูกบริเวณขากรรไกรไม่เพียงพอต่อการฝังรากเทียมเท่านั้น (อ่าน…ปลูกกระดูกรากฟันเทียม ทำเพื่ออะไรและมีความจำเป็นจริงหรือ)

10.ทำรากเทียมแล้วความรู้สึกในการบดเคี้ยวจะเหมือนฟันจริง ๆ ไหม

หลังจากทำการฝังรากฟันเทียม และรากเทียมได้เชื่อมประสานเข้ากับกระดูกและฟันปลอมแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น ผู้ที่ทำการใส่รากเทียมจะไม่รู้สึกแตกต่างจากตอนที่มีฟันอยู่ตามปกติ การบดเคี้ยวอาหารจะทำได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพดี ความรู้สึกจะเป็นธรรมชาติมาก ไม่รู้สึกแปลกแตกต่างหรือฝืนในการบดเคี้ยวแต่อย่างใด

11.มีโรคประจำตัวสามารถทำรากเทียมได้หรือไม่

สำหรับผู้มีโรคประจำตัว อย่างเช่นเบาหวานหรือผู้ป่วยที่ทานยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ จริง ๆ แล้วสามารถเข้ารับการทำรากเทียมได้ แต่ขอแนะนำว่าให้แจ้งแก่ทันตแพทย์ก่อน เพื่อที่ทางทันตแพทย์จะได้ทำการปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจและความปลอดภัย

12.การดูแลรักษารากเทียมทำยากหรือไม่

จริง ๆ แล้วการดูแลรักษารากฟันเทียมนั้นเพื่อให้มีอายุการใช้งานนาน ๆ สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแค่

·       ในช่วง 1-2 เดือนแรกที่เข้ารับการฝังรากเทียมมา ให้หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีความแข็งหรือมีความเหนียว เพื่อเป็นการป้องกันการกระแทกจากการบดเคี้ยวที่รุนแรง

·       ลดการทานของร้อนของเผ็ดจัด หรือเย็นจัดเกินไป

·       รับประทานยาลดอาการปวดบวมตามที่แพทย์สั่ง ตามระยะการรักษา

·       ดูแลรักษาช่องปากให้สม่ำเสมอ ทั้งการแปรงฟัน บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก

เพียงเท่านี้ก็จะทำให้รากเทียมคงทนและอยู่กับเราได้นานตามอายุการใช้งานแล้ว

นี่คือ 12 ข้อสงสัยยอดฮิตเกี่ยวกับเรื่องของการทำรากฟันเทียม คิดว่าคงจะคลายความสงสัยให้กับคนที่กำลังตัดสินใจจะไปทำ หรือกำลังจะพาคนในครอบครัวไปทำได้บ้าง และคงจะช่วยให้คุณมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นในเรื่องนี้

 

dentistaonnut
LINE